ศบค.ไฟเขียว ศธ.เลื่อนเปิดภาคเรียน 2564 จากวันที่ 1 มิ.ย.ออกไปอีกเป็นวันที่ 14 มิ.ย. “ตรีนุช” แจงเพื่อความปลอดภัยสูงสุดของนักเรียน ครู ผู้ปกครอง สถานศึกษาพื้นที่สีแดง-พื้นที่สีส้ม หากต้องการเปิดก่อนทำได้โดยต้องผ่านเกณฑ์ประเมินความพร้อมของ สธ. และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ส่วนพื้นที่สีแดงเข้ม 4 จังหวัด กรุงเทพฯ-นนทบุรี-ปทุมธานี-สมุทรปราการ สอนออนไลน์-ออนแอร์เท่านั้น

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศปก.ศบค.) ได้รับทราบให้สถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เลื่อนการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 จากวันที่ 1 มิถุนายน ออกไปอีก เป็นวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ตามที่ ศธ.เสนอ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ยังมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง จึงต้องเลื่อนการเปิดภาคเรียนออกไป เพื่อความปลอดภัยและระวังป้องกันนักเรียน นักศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษา ไม่ต้องเสี่ยงกับการติดเชื้อโควิด 19 และเพื่อให้มีระยะเวลารับการฉีดวัคซีนของครูและบุคลากรทางการศึกษา และรองรับการย้ายสถานศึกษาของนักเรียนในแต่ละช่วงชั้น

ทั้งนี้ การเลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1/2564 หากมีสถานศึกษาใดในพื้นที่ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือพื้นที่สีแดง และพื้นที่ควบคุม หรือพื้นที่สีส้ม ประสงค์จะดำเนินการเปิดภาคเรียนที่ 1/2564 ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป ให้โรงเรียนหรือสถานศึกษาแห่งนั้น ดำเนินการประเมินความพร้อมตามระบบ Thai Stop COVID Plus ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่มี 44 ข้อ โดยต้องผ่านทุกข้อ และต้องเสนอขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพื่ออนุญาตให้โรงเรียนหรือสถานศึกษาแห่งนั้นสามารถจัดการเรียนการสอนได้ก่อนวันที่ 14 มิถุนายน ส่วนโรงเรียนในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่สีแดงเข้ม 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ, นนทบุรี, ปทุมธานี และสมุทรปราการ หากต้องการเปิดสอนก่อน สามารถจัดการเรียนได้ในรูปแบบการสอนออนไลน์ และออนแอร์เท่านั้น ทั้งนี้ถึงแม้โรงเรียนจะเปิดไม่พร้อมกัน แต่ต้องปิดเทอมพร้อมกันในวันที่ 15 ตุลาคม 2564 เพื่อไม่กระทบกับปฏิทินการสอบต่างๆ

ทั้งนี้ ล่าสุด ศบค.ได้ผ่อนคลายมาตรการการใช้อาคารสถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอน กิจกรรมที่มีการรวมคนจำนวนมากตามระดับสถานการณ์ของพื้นที่ โดยพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่สีแดงเข้ม 4 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ, นนทบุรี, ปทุมธานี และสมุทรปราการ ห้ามใช้อาคารสถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอน กิจกรรมที่มีการรวมคนจำนวนมาก ยังเปิดเรียนที่โรงเรียนไม่ได้ สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือพื้นที่สีแดง มี 17 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี, ชลบุรี, ฉะเชิงเทรา, ตาก, นครปฐม, นครศรีธรรมราช, นราธิวาส, ประจวบคีรีขันธ์, พระนครศรีอยุธยา, เพชรบุรี, ยะลา, ระนอง, ระยอง, ราชบุรี, สมุทรสาคร, สงขลา และสุราษฎร์ธานี ให้ใช้อาคารสถานที่ฯ เปิดเรียนได้ โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ส่วนที่เหลือ 56 จังหวัดเป็นพื้นที่ควบคุม หรือพื้นที่สีส้ม เปิดเรียนได้ตามมาตรการ ศบค.

อย่างไรก็ตาม ขอให้สถานศึกษาติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พิจารณารูปแบบการเรียนการสอน โดยยึดหลักความปลอดภัยสูงสุดของเด็ก ครู ผู้ปกครองเป็นที่ตั้ง นักเรียนทุกคนต้องไม่พลาดโอกาสในการเรียนรู้ ไม่บังคับว่าเด็กทุกคนในโรงเรียนเดียวกันต้องเรียนเหมือนกัน การตัดสินใจใช้รูปแบบใดในการจัดการเรียนการสอน รวมถึงการจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียน ต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ ขออนุญาตกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดให้ถูกต้อง และปฏิบัติตามข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

นายสุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ. กล่าวว่า เมื่อเลื่อนเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2564 เป็นวันที่ 14 มิถุนายน จะต้องปิดภาคเรียนในวันที่ 15 ตุลาคม และเปิดภาคเรียนที่ 2 ตรงกันในวันที่ 1 พฤศจิกายน ทั้งนี้ ศธ.ได้ตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงศึกษาธิการ (ศบค.ศธ.) โดยปลัด ศธ.เป็นหัวหน้าศูนย์ และนางเกศทิพย์ ศุภวานิช ผู้ตรวจราชการ ศธ. เป็นรองหัวหน้าศูนย์ จะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลประเด็นปัญหาความต้องการทุกวัน และรายงาน ศบค.ชุดเล็ก พิจารณา

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ช่วงก่อนเปิดภาคเรียนชั้น ม.1 และ ม.4 จะมีการสอบคัดเลือกเข้าเรียนในวันที่ 22-23 พฤษภาคม ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้สำรวจเพิ่มเติมโรงเรียนที่ขออนุญาตไว้ จำนวน 702 โรงเรียน แต่เมื่อสำรวจขณะนี้พบว่ามีโรงเรียนส่วนหนึ่งมาสอบคัดเลือกแบ่งห้องเรียนเท่านั้น จึงไม่ต้องให้มาสอบในวันดังกล่าว จึงลดจำนวนโรงเรียนที่จะสอบคัดเลือกจริง ๆ โดยมีโรงเรียนที่สอบทั้งระดับชั้น ม.1 และ ม.4 จำนวน 75 โรง แต่มาคนละวัน, โรงเรียนที่สอบเฉพาะ ม.1 ในวันที่ 22 พฤษภาคม จำนวน 54 โรง และสอบเฉพาะ ม.4 ในวันที่ 23 พฤษภาคม จำนวน 49 โรง รวม 178 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยลดการแออัดลงได้

สำหรับความห่วงใยในการรายงานตัว สามารถรายงานตัวทางออนไลน์ได้ และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาต่าง ๆ ได้สำรองโรงเรียนไว้ให้นักเรียนที่สอบไม่ได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยผู้ปกครองสามารถเลือกได้ 2-3 ลำดับ เว้นแต่ผู้ปกครองไม่เลือกตามที่เขตพื้นที่ฯ เลือกไว้ให้ จึงยืนยันว่านักเรียนทุกคนมีที่เรียน

รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า เชื่อว่าการเรียนรู้ที่ดีที่สุด คือ การเรียนในห้องเรียน แต่เมื่อเกิดสถานการณ์ไม่ปกติ ศธ.พยายามออกแบบการเรียนรู้ให้ยืดหยุ่นที่สุด โดยให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ได้มากที่สุด อาจไม่ 100% แต่จะให้ได้มากที่สุด ตามที่สถานการณ์กำหนดไว้ให้ ซึ่งการเลื่อนเปิดภาคเรียนออกไป ก็เป็นการเลื่อนเวลา เพื่อให้สถานการณ์การแพร่บาดของโควิด 19 ลดน้อยลง และการเข้าถึงวัคซีนของครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มากยิ่งขึ้น ก่อนที่จะเปิดภาคเรียน

ที่มา ศธ.360 องศา